เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [1. ปฐมปัณณาสก์] 5. อักโกสวรรค 5. ราชันเตปุรัปปเวสนสูตร
น่าจะเป็นการกระทำของบรรพชิต” นี้เป็นโทษในการเข้าไปในพระราชวัง
ชั้นในประการที่ 4
5. ในพระราชวังชั้นใน บิดาปรารถนาจะฆ่าบุตร หรือบุตรปรารถนาจะฆ่าบิดา
คนทั้ง 2 นั้น ต่างก็จะสงสัยอย่างนี้ว่า “เว้นบรรพชิตเสียแล้ว ใครอื่น
จะเข้ามาในพระราชวังชั้นในนี้ไม่ได้ กรรมนี้น่าจะเป็นการกระทำของ
บรรพชิต” นี้เป็นโทษในการเข้าไปในพระราชวังชั้นในประการที่ 5
6. พระราชาทรงตั้งบุคคลผู้ควรแก่ตำแหน่งต่ำไว้ในตำแหน่งสูง คนทั้งหลาย
ที่ไม่พอใจการแต่งตั้งนั้น จะมีความสงสัยอย่างนี้ว่า “พระราชาทรง
คลุกคลีกับบรรพชิต กรรมนี้น่าจะเป็นการกระทำของบรรพชิต” นี้เป็น
โทษในการเข้าไปในพระราชวังชั้นในประการที่ 6
7. พระราชาทรงตั้งบุคคลผู้ควรแก่ตำแหน่งสูงไว้ในตำแหน่งต่ำ คนทั้งหลาย
ที่ไม่พอใจการแต่งตั้งนั้น จะมีความสงสัยอย่างนี้ว่า “พระราชาทรง
คลุกคลีกับบรรพชิต กรรมนี้น่าจะเป็นการกระทำของบรรพชิต” นี้เป็น
โทษในการเข้าไปในพระราชวังชั้นในประการที่ 7
8. พระราชาทรงส่งกองทัพไปในกาลไม่สมควร คนทั้งหลายที่ไม่พอใจใน
การส่งกองทัพไปนั้น จะมีความสงสัยอย่างนี้ว่า “พระราชาทรงคลุกคลี
กับบรรพชิต กรรมนี้น่าจะเป็นการกระทำของบรรพชิต” นี้เป็นโทษใน
การเข้าไปในพระราชวังชั้นในประการที่ 8
9. พระราชาทรงส่งกองทัพไปในกาลสมควร รับสั่งให้กลับเสียในระหว่างทาง
คนทั้งหลายที่ไม่พอใจในการให้กองทัพกลับเสียในระหว่างทางนั้น จะมี
ความสงสัยอย่างนี้ว่า “พระราชาทรงคลุกคลีกับบรรพชิต กรรมนี้น่าจะ
เป็นการกระทำของบรรพชิต” นี้เป็นโทษในการเข้าไปในพระราชวังชั้นใน
ประการที่ 9
10. พระราชวังชั้นในเป็นที่คับคั่งไปด้วยช้าง คับคั่งไปด้วยม้า คับคั่งไปด้วยรถ
มีรูป เสียง กลิ่น รส และโผฏฐัพพะเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด ซึ่งเป็น
สิ่งที่ไม่สมควรแก่บรรพชิต นี้เป็นโทษในการเข้าไปในพระราชวังชั้นใน
ประการที่ 10
ภิกษุทั้งหลาย โทษในการเข้าไปในพระราชวังชั้นใน 10 ประการนี้แล
ราชันเตปุรัปปเวสนสูตรที่ 5 จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 24 หน้า :99 }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [1. ปฐมปัณณาสก์] 5. อักโกสวรรค 6. สักกสูตร
6. สักกสูตร
ว่าด้วยอุบาสกอุบาสิกาชาวแคว้นสักกะ
[46] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นิโครธาราม เขตกรุงกบิลพัสดุ์
ในแคว้นสักกะ ครั้งนั้นแล อุบาสกอุบาสิกาชาวแคว้นสักกะเป็นจำนวนมากได้พากัน
เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับในวันอุโบสถ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร
พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสถามอุบาสกอุบาสิกาชาวแคว้นสักกะดังนี้ว่า
“อุบาสกอุบาสิกาชาวแคว้นสักกะทั้งหลาย ท่านทั้งหลายพากันรักษาอุโบสถที่
ประกอบด้วยองค์ 8 บ้างหรือไม่หนอ”
อุบาสกอุบาสิกาชาวแคว้นสักกะเหล่านั้นกราบทูลว่า “บางคราวข้าพระองค์
ทั้งหลายพากันรักษาอุโบสถที่ประกอบด้วยองค์ 8 แต่บางคราวก็ไม่ได้พากันรักษา
พระพุทธเจ้าข้า”
“อุบาสกอุบาสิกาชาวแคว้นสักกะทั้งหลาย ไม่ใช่ลาภของท่านทั้งหลาย ท่าน
ทั้งหลายได้ชั่วแล้ว ที่เมื่อชีวิตมีภัยเพราะความโศก มีภัยเพราะความตายอย่างนี้
บางคราวท่านทั้งหลายพากันรักษาอุโบสถที่ประกอบด้วยองค์ 8 แต่บางคราวก็ไม่ได้
พากันรักษา
ท่านทั้งหลายเข้าใจเรื่องนั้นอย่างไร บุคคลบางคนในโลกนี้พึงหาทรัพย์ได้วันละ
กึ่งกหาปณะด้วยการงานชอบ โดยไม่แตะต้องอกุศลกรรมเลย สมควรจะกล่าวได้
หรือไม่ว่า ‘เป็นคนฉลาด มีความขยันหมั่นเพียร”
“สมควรกล่าวได้อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
“อุบาสกอุบาสิกาชาวแคว้นสักกะทั้งหลาย ท่านทั้งหลายเข้าใจเรื่องนั้นอย่างไร
บุคคลบางคนในโลกนี้พึงหาทรัพย์ได้วันละ 1 กหาปณะ ... 2 กหาปณะ ...
3 กหาปณะ ... 4 กหาปณะ ... 5 กหาปณะ ... 6 กหาปณะ ... 7 กหาปณะ ...
8 กหาปณะ ... 9 กหาปณะ ... 10 กหาปณะ ... 20 กหาปณะ ... 30 กหาปณะ ...
40 กหาปณะ ... 50 กหาปณะ ... 100 กหาปณะ ด้วยการงานชอบ โดยไม่แตะ
ต้องอกุศลกรรมเลย สมควรจะกล่าวได้หรือไม่ว่า ‘เป็นคนฉลาด มีความขยันหมั่น
เพียร”
“สมควรกล่าวได้อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 24 หน้า :100 }